วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เบาะแสฉลาดขึ้น มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก ตอนที่ 2


            เพียงแค่เห็นชื่อที่ใช้คำว่า “มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก” ก็ดูค่อนข้างจะแปลกและสะดุดใจเล็กน้อยเพราะคำว่า สันติภาพโลก ทำให้เกิดแง่ความคิดไปได้ในหลายแง่มุมว่า...เป็นเรื่องของการประกาศศาสนาบางศาสนาหรือเปล่า หรือเป็นเรื่องของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสันติภาพใด ๆ หรือเปล่า หรือเป็นเรื่องของผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมใด ๆ ทางสังคมใด ๆ หรือเปล่า...ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถคิดไปกันได้

            แต่สำหรับ “มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก” นั้นเป็นเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นนักวิชาการที่ใช้เวลาในการทุ่มเทและต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคนานับประมาณนานกว่า 30 ปี เพื่อต้องการปลดปล่อยโซ่ตรวนหรือความมีอคติทางความคิดด้านการพัฒนาการของมนุษย์ให้มีอิสระโดยแท้จริงที่สามารถนำพาให้มนุษย์อยู่ร่วมสังคมได้อย่างสันติ และมีสิทธิทางปัญญาที่สังคมสามารถให้การยอมรับในคุณค่าแห่งความดีอันเนื่องจากประสบการณ์ชีวิตที่มีการปฏิบัติได้จริง ผ่านพ้นความผิดพลาดและความถูกต้องด้วยความยากลำบาก จนกระทั่งชีวิตสามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างสง่างาม และมีผู้ตามที่นำหลักความคิดการปฏิบัติไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อองค์กรและสังคมตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนสู่สังคมระดับชาติและสามารถก้าวไปสู่ในระดับโลกได้นั่นคือ “เจตนารมณ์ส่วนหนึ่ง” ของแนวคิดในการสถาปนามหาวิทยาลัยสันติภาพโลก ซึ่งผู้ก่อตั้งเป็นเจ้าของชื่อและตราเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย รวมทั้งรูปแบบของชุดเสื้อครุย คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สวัสดิ์ บันเทิงสุข อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประมาณ 30 ปี และอดีตประธานสภาอาจารย์ 2 สมัย

            แนวความคิดและการปฏิบัติของมหาวิทยาลัยจึงต้องการเปิดโลกแห่งความคิดให้สังคมมองเห็นถึงอิสระแห่งการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่เป็นรูปแบบของมหาวิทยาลัยในกรอบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและรูปแบบของมหาวิทยาลัยนอกกรอบ คำว่า “มหาวิทยาลัยนอกกรอบ” ก็ไปเป็นคู่มิตรบางประเด็นกับ “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” ที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยหลายแห่งที่ปรารถนาและพยายามที่จะเป็นกัน และความพยายามที่จะเป็นนั่นแหละ...จึงกลายเป็นความรู้สึกที่สังคมพอจะเริ่มสัมผัสและพอจะมองเห็นความเด่นชัดขึ้นมาบ้างว่า... แท้ที่จริงแล้วมหาวิทยาลัยเหล่านั้น...ไม่ต้องการถูกควบคุมแนวความคิดไปทางก้าวหน้า ไม่ต้องการถูกควบคุมแนวความคิดในการดำเนินกิจการหรือแนวทางด้านการตลาดของมหาวิทยาลัย และเห็นอย่างเด่นชัดก็คือในปัจจุบันนั้นมหาวิทยาลัยเอกชนได้แข่งขันในการดำเนินธุรกิจด้านการศึกษาอย่างมากมายและมหาวิทยาลัยของเอกชนจำนวนไม่น้อยก็สร้างคุณภาพด้านวิชาการได้ไม่ด้อยไปกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐอีกหลายแห่ง

            มหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งก็ อาจจะถึงขั้น ด้วยการพัฒนาไปกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนอีกหลายแห่ง เพราะถูกควบคุม ถูกครอบงำ ถูกกีดกัน ถูกฝังความคิดและความจำให้ซ้ำซากจนกลายเป็นความเชื่องช้าและล้าหลังจนกระทั่งต้องเกิดการตื่นตัว หลับหูหลับตาขยายสาขาวิชาการต่าง ๆ อย่างชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน เราจึงพอจะมองเห็นว่าเดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยของรัฐที่คณะผู้บริหารหัวใส เข้าใจใช้ความเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐและใช้เงินที่เป็นรายได้ก้อนใหญ่จากผู้ใฝ่หาปริญญารายย่อยจนเกิดภาควิชา “ไร้สาระ” ที่ทำให้คนเป็นบัณฑิต มหาบัณฑิต ด๊อกเตอร์ต๊อกต๋อย มากมายกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ

            แต่ก็มีมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนไม่น้อยที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเพื่อมุ่งหารายได้เป็นหลัก ส่วนคุณภาพยังเป็นขยุกขยิกเป็นรอง แต่ก็ยังคงดันทุรังไปได้เพราะเงินถึงและสามารถอยู่ได้ในกรอบของการถูกควบคุมโดยองค์กรที่กำกับดูแลมหาวิทยาลัยแบบเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ดังที่เห็นกันอยู่มากมายในปัจจุบัน

            มหาวิทยาลัยสันติภาพโลกมุ่งเน้นในการสร้างเครือข่ายของคนที่มีมูลค่าของชีวิตที่เป็นประสบการณ์ชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ยังไม่มีองค์กรใด ๆ ทางด้านการศึกษาได้ทำการสถาปนาประสบการณ์ชีวิตของบุคคลเหล่านั้นว่า “เขามีคุณค่า...เขาสมควร...เขาเดินทางถูกต้องแล้ว...เขาทำดีอยู่แล้ว...เขาสมควรทำต่อไป

            ดังนั้นถ้าไม่มีองค์กรใด ๆ มองเห็นคุณค่าและสถาปนาที่เขาปฏิบัติอยู่แล้ว เป็นอยู่แล้ว เขาเหล่านั้นจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่สำควรจะมุ่งมั่นกระทำต่อไป ด้วยการถ่ายทอดวิชาและประสบการณ์ชีวิตที่เอาตัวให้รอด นำพาครอบครัวให้ไปได้ ช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น มันอาจจะจบสิ้นลงไปพร้อมกับการจบชีวิตของผู้อื่นนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย

            มหาวิทยาลัยสันติภาพโลกจึงเป็นองค์กรที่ถือกำเนิดขึ้นด้วยการต่อสู่ฟันฝ่าอุปสรรคทุกรูปแบบเพื่อองค์กรทางสังคมที่จะสถาปนาส่งเสริม สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ “ปราชญ์และอัจฉริยะบุคคลธรรมชาติ” ที่เป็นทรัพยากรบุคคลทางวิชาการด้านทฤษฎีปฏิบัติโดยแท้จริง

            สังคมจะอยู่รอดได้ด้วยการขับเคลื่อนโดยทฤษฎีแห่งการปฏิบัติ และเขาเหล่านั้นสามารถมองเห็นคุณค่าแห่งประสบการณ์ชีวิตของตนและสามารถใช้ประสบการณ์ชีวิตสอนคนรุ่นต่อไปได้ อย่างน่ามหัศจรรย์ใจยิ่ง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น